วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ความแตกต่างทางชาติพันธุ์

ที่มา: http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/sub/book/book.php?book=23&chap=5&page=t23-5-infodetail02.html
การผสมกลมกลืนของชาติพันธุ์
การผสมกลมกลืนของชาติพันธุ์

ผู้อพยพในค่ายอพยพจะถูกจำกัดสิทธิทางสังคม
ผู้อพยพในค่ายอพยพจะถูกจำกัดสิทธิทางสังคม
ความแตกต่างทางชาติพันธุ์

ในช่วงเวลาที่มีจำนวนประชากรไม่มาก และความหนาแน่นของประชากรต่ำ พื้นที่บนผิวโลกมีอยู่มากพอ ที่จะตอบสนองการขยายตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ แต่มาในระยะหลัง เมื่อมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น การขยายตัวของวัฒนธรรม และชาติพันธุ์ มีผลทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์ เมื่อชาติพันธุ์ขยายตัวมาอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน การยอมรับซึ่งกันและกัน อาจทำให้เกิดการยืมวัฒนธรรม และการผสมกลมกลืนของชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมได้ แต่ถ้าการขยายตัวของชาติพันธุ์สองชาติพันธุ์ไม่เข้ากัน หรือไม่สอดคล้องกัน ปัญหาเรื่องความขัดแย้ง ของกลุ่มชาติพันธุ์ก็จะเกิดตามมา ปัญหามักจะ เกิดจากการที่แต่ละฝ่ายต่างก็พยายามรักษา วัฒนธรรมของตน ไม่ยอมรับวัฒนธรรมของ ชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรมข้างเคียง

ความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ จะส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีได้ ถ้าเข้าใจว่าความแตกต่างระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์เกิดขึ้นได้อย่างไร สาเหตุของการแบ่งแยกระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ พอจะสรุปได้ ๕ ลักษณะ คือ

๑. เกิดจากการแบ่งแยกโดยวัฒนธรรมชนชั้น

ในสังคมบางสังคมมีการแบ่งชนชั้น และคนที่อยู่ในชนชั้นต่ำที่สุด จะถือเป็นกลุ่มชน ที่อยู่นอกระบบสังคมนั้น เช่น จัณฑาลในอินเดีย เอทา หรือบูราคูในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น คนที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน แต่ถูกสังคมระบุว่าเป็นคนชนชั้นต่ำ ถือว่าเป็นผู้ที่น่ารังเกียจและไม่ควรอยู่ร่วมสังคมกับสมาชิกส่วนใหญ่ ได้กลายเป็นชนกลุ่มน้อยของสังคมนั้น เป็นผู้ที่ปราศจากศักดิ์ศรี ไม่มีอำนาจ และไม่มีสิทธิทางสังคมเท่าเทียมคนอื่น ปัจจุบัน ทั้งประเทศอินเดียและประเทศญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายยกเลิกชนชั้นจัณฑาลและบูราคู แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีการกีดกันอยู่ความแตกต่างภายในกลุ่มชาติพันธุ์เดียว กันนี้ ถือเป็นรูปแบบความแตกต่างทางชาติพันธุ์รูปแบบหนึ่ง

๒. เกิดจากการแบ่งแยกจากลักษณะทางภูมิศาสตร์

กลุ่มชนที่มีชาติพันธุ์ต่างจากคนส่วนใหญ่ และตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่ห่างไกล เช่น ชาวเขา มักจะถูกตัดขาดจากสังคมพื้นราบ โดยไม่ได้รับข่าวสารอย่างสม่ำเสมอจากคนพื้นราบ ในส่วนกลาง การขาดการติดต่อสื่อสารที่ดีนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และอาจทำให้มีปฏิกิริยาต่อต้านอำนาจรัฐได้ ในกรณีของประเทศไทย รัฐบาลได้พยายามติดต่อสื่อสารกับชาวเขาอยู่เสมอ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน ความสัมพันธ์ระหว่างชาวเขากับรัฐบาลไทยจึงไม่ค่อยมีปัญหา

๓. เกิดจากการผนวกดินแดน

การขยายอาณาเขตของประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยการผนวกดินแดนเพิ่ม อาจเกิดจากการตกลงกันตามสนธิสัญญา หรือเกิดจากการขยายดินแดง หลังจากชนะสงคราม ตัวอย่างของการตกลงตามสนธิสัญญาคือ กรณีสหรัฐอเมริกาซื้อดินแดนซึ่งปัจจุบันคือรัฐในภาคตะวันออกเฉียงใต้บางรัฐ ตามสนธิสัญญา เรียกว่า"Louisiana Purchase" ในปี ค.ศ. ๑๘๐๓ หรือการที่สหรัฐอเมริกาซื้อดินแดน ซึ่งปัจจุบันคือ รัฐอลาสกา ในปี ค.ศ. ๑๘๖๗ ส่วนตัวอย่างของการสู้รบระหว่างเพื่อนบ้าน และฝ่ายที่ชนะ สามารถผนวกดินแดนข้างเคียงเพิ่มขึ้น คือ กรณีการขยายอาณาจักรต่างๆ ในบริเวณแหลมทองของทวีปเอเชียได้แก่ อาณาจักรสุโขทัย ทวาราวดีศรีวิชัย ล้านนา ล้านช้าง อโยธยา ฯลฯ ซึ่งสามารถขยายดินแดนให้กว้างใหญ่ขึ้นได้ โดยการยกทัพสู้รบกัน และฝ่ายที่ชนะเป็นฝ่ายที่สามารถขยายอาณาจักรได้

การผนวกดินแดนในลักษณะของการตกลงกันตามสนธิสัญญาก็ดี ในลักษณะของการสู้รบชนะก็ดี ถ้าดินแดนที่ได้มา ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ ที่แตกต่างไปจากกลุ่มเดิมแล้ว ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ ย่อมจะเกิดขึ้นได้ ถึงแม้ว่าลักษณะโดยทั่วไปของคนสองกลุ่มนี้อาจ ไม่แตกต่างกันมากนักก็ตาม

๔. เกิดจากการย้ายถิ่น

ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ อาจมีสาเหตุมาจากการที่คนจำนวนหนึ่งอพยพ ย้ายถิ่นเข้าไปอยู่ในสังคมอื่น โดยที่คนกลุ่มนี้ มีลักษณะทางวัฒนธรรมแตกต่างจากคนในสังคมที่ตนย้ายเข้าไปอยู่ รูปแบบของการย้ายถิ่นมีได้หลายรูปแบบ เช่น

๑. การอพยพทาสจากแอฟริกาไปทวีป อเมริกาและยุโรป
๒. การอพยพแรงงานเกณฑ์จากบริเวณ หนึ่งไปยังอีกบริเวณหนึ่ง
๓. การว่าจ้างคนงานที่อพยพมาจากที่อื่น
๔. การอพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย หรือการลี้ภัยการเมือง
๕. การรับคนเข้าประเทศโดยการโอนสัญชาติ
๖. การอพยพของชนชาติที่เจริญกว่า ไปยังพื้นที่ที่มีชนชาติที่ด้อยกว่า

การย้ายถิ่นในรูปแบบต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น แตกต่างกันในระดับของการบังคับ ควบคุม ในกรณีที่อพยพทาสจากแอฟริกาไปอเมริกา หรือยุโรป เป็นการอพยพ ที่มีการควบคุมอย่างใกล้ชิด โดยถือว่า มีลักษณะไม่ต่างไปจากนักโทษ ที่ต้องจองจำ และเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด ในทำนองเดียวกันกับการอพยพแรงงานเกณฑ์ ไปไว้ในค่ายกรรมกรอพยพในยุโรป ก็มีการควบคุมค่อนข้างใกล้ชิด แต่ไม่เข้มงวดเท่ากรณีของการ อพยพทาส ส่วนการอพยพคนงานไปทำงาน รับจ้างในประเทศอื่นก็มีลักษณะเข้มงวดน้อยลงมา แต่คนงานเหล่านี้ก็ยังมีลักษณะขาดเสถียรภาพ เนื่องจากไม่รู้ว่าจะต้องไปที่ใดอย่างใด ต้องคอย พึ่งผู้ที่จัดการอพยพอยู่ตลอดเวลา และมักจะไม่ แน่ใจว่าจะมีปัญหาในอนาคตหรือไม่ ส่วนกรณี ของผู้อพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เป็นการ อพยพในระดับบุคคลหรือครอบครัว โดยไม่มี การจัดการอย่างเป็นระบบ ผู้อพยพมีปัญหาในช่วงของการเดินทาง และการผ่านด่านต่างๆ แต่เมื่อได้เข้ามาอยู่ในค่ายอพยพผู้ลี้ภัยแล้ว สภาพความเป็นอยู่จะไม่เลวร้ายนัก บางครั้งผู้อพยพจะได้สิทธิพิเศษด้วย ถึงแม้จะมีการควบคุมบ้าง อีกกรณีหนึ่งคือ การโอนสัญชาติ ซึ่งเป็นการอพยพ ในระดับบุคคล ในลักษณะที่ไม่มีการควบคุม การตัดสินใจอพยพเป็นการตัดสินใจส่วนตัว ซึ่งผู้ขอโอนสัญชาติคิดว่า ดีและเหมาะสม แต่เมื่อไปอยู่ ในประเทศใหม่ ผู้อพยพอาจถูกกีดกันหรือถูก จำกัดสิทธิ ให้มีสิทธิทางสังคมด้อยกว่าผู้ที่อยู่ใน ประเทศมาก่อน

การอพยพของชาวตะวันตกจากทวีปยุโรป ไปยังทวีปอเมริกา และทวีปออสเตรเลีย คือ ตัวอย่างของการอพยพของชนชาติที่เจริญกว่า เข้าไปครอบครอง และมีอิทธิพล เหนือกว่าผู้ที่อยู่เดิม และทำให้ผู้ที่อยู่เดิมกลายเป็นชนกลุ่มน้อยได้เช่นเดียวกัน

๕. เกิดจากการตกเป็นประเทศอาณานิคม

ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ในประเทศอาณานิคม มีลักษณะแตกต่างจากกรณีต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ทั้ง ๔ กรณี ทั้งนี้ เพราะอาณานิคมเกิดจากการที่มหาอำนาจเข้ามามีอำนาจในการเมืองการปกครองของ ประเทศอื่น ผู้อพยพเข้ามาเป็นผู้ที่มีอำนาจมากกว่า และสามารถออกกฎหมายบังคับต่างๆนานา ทำให้เจ้าของประเทศ ซึ่งมีจำนวนประชากรมากกว่า มีลักษณะของผู้อยู่ใต้ปกครอง และต้องยอมจำนนต่อข้อเรียกร้องของประเทศมหาอำนาจประเทศมหาอำนาจมักจะจับจอง ที่ดินขนาดใหญ่ และว่าจ้างคนพื้นเมืองไปเป็นกรรมกรในไร่นา มีผลทำให้คนพื้นเมืองมีลักษณะเป็นผู้อยู่ใต้การปกครอง หรือลูกจ้างในอาณัติของมหาอำนาจ ทั้งๆ ที่มหาอำนาจเป็นผู้บุกรุกเข้ามาในดินแดนของตน โดยทั่วไปจำนวนของผู้ที่อพยพมาจากประเทศมหาอำนาจมีไม่มากนัก แต่คนกลุ่มนี้ก็สามารถจับจองที่ดิน และทำธุรกิจจนถึงขนาดเป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจการเมือง และสังคมได้ อย่างกรณีประเทศซิมบับเว ปรากฏว่า ในปี ค.ศ. ๑๙๓๑ คนผิวขาวเป็นเจ้าของที่ดิน เกือบร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่ทั้งหมด แต่ประชากรผิวขาวมีประมาณร้อยละ ๕ เท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น